สื่อกับโรคจิตเวช: นำเสนอบันเทิงคดีอย่างสร้างสรรค์
ที่เห็นและเป็นอยู่ อีกครั้ง
ในกระทู้สนทนา http://pantip.com/topic/30550654 มีผู้ถามว่า “มีละครหรือภาพยนตร์เรื่องไหนบ้างครับ ที่ตัวละครมีปัญหาทางจิตหรือจิตไม่ปกติ?” คำตอบมีมากมาย ขอตัดตอนมาให้ดูพอสังเขปและแบ่งเป็นไทยกับเทศ พร้อมกับคอมเมนต์สั้นๆ เพื่อจะได้เห็นความคิด ความรู้สึกของผู้ดูกันบ้างเล็กน้อย ดังต่อไปนี้
เงามรณะ (อนุวัฒน์ นิวาตวงศ์) จิตรกร (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) ไร้เสน่หา (นงราม - พิศมัย วิไลศักดิ์, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา)
บริษัทบำบัดแค้น ทั้งพระทั้งนางน่ากลัวมาก และเล่นเทพมาก
ราม จากเรื่อง สามี เป็นโรคไบโพลาร์ คนสองบุคลิก
กี่เพ้า ..... หม่าม้า พระเอก(แสดงโดย คุณแหม่มจินตหรา) รักลูกชายคนโตมาก พอลูกตายเลยมาฆ่าเมรี ผีในเรื่อง
บริษัทบำบัดแค้น แอนทอง-อั้มอธิ ค.ห6 ใช่Orphan ป้ะ เรื่องนี้ก็อีกเรื่อง ดูแล้วแบบกลัวนาง อยากจะเอาไม้ฟาดหัวนาง
- บอดี้ศพ #19, คน-โลก-จิต ล่า - มธุสร/มธุกร(นก สินจัย/ทราย เจริญปุระ) - ปราสาทมืด - ป้าแช่ม/กัญญา(หมู พิมพ์ผกา/หมิง ชาลิสา) - หยกลายเมฆ - ซู่หลิง(น้ำผึ้ง ณัฐริกา) - นิมิตมาร - นทีทอง(จารุณี สุขสวัสดิ์) - ขมิ้นกับปูน - ปัทมา(เหมียว ชไมพร/จอย ศิริลักษณ์) - พรุ่งนี้ก็รักเธอ - ปัทมาศ(ปิ่น เก็จมณี) - อุบัติเหตุ - กุสุมา(เบนซ์ ปุณยาพร) |
- Fight Club
-martian child เด็กคิดว่าตัวเองถูกส่งมาจากดาวอังคาร มาเพื่อสำรวจสิ่งของบนโลก
-Shutter Island
-American Psycho - Christian bale เป็นพระเอก
- Identity, Funny Games (อันนี้ดูจบคนอาจจะเพี้ยนตามได้)
- Silence of the Lambs - ดร.ฮันนิบาล เลคเตอร์ โรคจิตแบบอัจฉริยะ+หลอน ตอนนี้เรายังแอบกลัว แอนโทนี่ ฮอปกิ้นส์ อยู่เลย T-T - Friends (series) - ฟีบี้ โรคจิตแบบน่ารัก - Machanist - คริสเตียน เบล เล่นเป็นพระเอก ที่ผอมๆ แห้งๆ น่ะ - Se7en - ผู้ร้ายจิตๆ สนุกมากกกกก (อยากดูอีกจัง)
-Nightmare on Elm Street นิ้วเขมือบ เฟรดดี้ ครูเกอร์ ลุงเฟรดดี้โรคจิตก็จริง แต่ชอบพูดมาก (อยากกระโดดเข้าไปตบปากลุงแก) - Misery . - The hand that rocks the cradle. - Sleeping with the enemy . |
และในบทสัมภาษณ์ นักแสดงบทร้ายได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวละครซึ่งตนสวมบทบาท เราขอยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้
http://women.kapook.com/view1125.html
น้ำผึ้ง ยอมรับ บทโรคจิต หิน..กว่าที่คิด
“น้ำผึ้ง : เรื่องนี้ยากตรงที่เวลาเล่นต้องมีสมาธิมากๆ เพราะตัวละครที่เล่นจะเป็นโรคจิต เป็นฆาตกรฆ่าคน แต่การแสดงออกภายนอกเหมือนไม่มีอะไร ผิดกับจิตใจที่สกปรกค่ะ คาแรคเตอร์จะเป็นเด็กที่จน ชีวิตอาภัพ แต่มีเพื่อนสนิทคือ พี่ติ๊ก (กัญญารัตน์) ซึ่งเป็นแม่ของเจนี่ เราจะโดนเปรียบเทียบตลอด ก็เลยวางแผนฆ่าเพื่อนแล้วก็แต่งงานกับสามีเพื่อน”
คงจะไม่ผิด ถ้าเราพูดว่า เรื่อง “โรคจิต” นั้น อยู่คู่กับบันเทิงคดีทั้งไทยเทศมานานแล้ว และมักเชื่อมโยงกับความรุนแรงโหดร้ายถึงระดับผิดกฎหมาย หรือไม่ก็นำเสนอในแนวที่เน้นความ “เพี้ยน” หมกมุ่นแต่กับตนเองและชอบล่อลวงเหยื่อทางเพศ เป็นเป้าของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็งี่เง่าเบาปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของไมน์เฟรม
ผู้ชมมีปฏิกิริยาต่อตัวละครที่ผิดปกติเหล่านี้ในทางลบ กลัว อยากทำร้ายตอบแทน หรือขำๆ แบบไม่ถือเป็นสาระ การใช้คำเรียกอาการผิดปกติมักจะไม่ถูกต้อง อย่างเช่นเรียกตัวละครที่โหดร้ายเหล่านี้ว่า “โรคจิต” ทั้งสองลักษณะข้างต้นจะพบเด่นชัดเสมอในคำสัมภาษณ์ของผู้แสดงเอง อย่างคนที่แสดงเป็น “พลอย” ในเรื่องมารกามเทพ หรือ “ซู่หลิง” ในเรื่องหยกลายเมฆ
การบำบัดรักษาที่มักนำเสนอก็เทไปทางการทำจิตบำบัดแบบน่าตื่นเต้นเร้าใจกับการช็อคด้วยไฟฟ้า แทนที่จะใช้รูปแบบการรักษาที่ใช้กันทั่วไปอย่างการให้ยา และการนำเสนอมักทำให้ผู้ชมฝังใจว่า การบำบัดนั้นไม่มีประสิทธิผลและกลับไปเน้นว่าความรักมีชัยเหนือทุกสิ่ง ทั้งวาดภาพนักวิชาชีพสุขภาพจิตว่าไร้สมรรถภาพร้าย ถ้าไม่คำนึงถึงตนเองเกินจริง ก็ชอบล่อลวงหญิงให้เสียตัว และสุดท้าย เมื่อโครงเรื่องคลี่คลายไป ปรากฏว่า ที่นักวิชาชีพเหล่านี้เข้าใจมาตลอดนั้นผิดทั้งเพ (ดูการวิจารณ์การวิจัยเรื่องนี้ที่ www.mindframe-media.info)
คำถามบางประการ
บันเทิงคดีเป็นตำราจิตเวชหรือ? ถึงต้องเน้นเรื่องความถูกต้องของคำที่ใช้ อาการที่เป็น แน่นอนว่าไม่ใช่ บันเทิงคดีย่อมมุ่งหมายให้ความบันเทิงเป็นหลัก แต่เราก็ย่อมไม่อาจปฏิเสธบทบาทของการให้ข้อมูลและกำหนดทัศนคติของผู้ชมต่อสิ่งต่างๆ ที่นำเสนออยู่ในบันเทิงคดีได้ เชลลีย์ (Percy Bysshe Shelley) กวียุคโรแมนติกของอังกฤษเคยเขียนปกป้องคุณค่าของกวีนิพนธ์ไว้ใน A Defense of Poetry ว่า “กวีเป็นผู้บัญญัติกฎหมายผู้ไม่เป็นที่รู้จักแห่งโลกนี้” (Poets are the unacknowledged legislators of the world.) เพราะเขาไม่ได้นำเสนองานในรูปพระราชบัญญัติที่มีมาตราต่างๆ วรรคต่างๆ ด้วยเหตุและผลโดยการวิเคราะห์ แต่เขาทำโดยใช้จินตนาการโดยการสังเคราะห์ นี่น่าจะประยุกต์ใช้กับการนำเสนอเรื่องโรคจิตเวชและคนที่ได้รับผลกระทบในบันเทิงคดีได้
ต้องนำเสนอแต่ภาพบวกของจิตเวชหรือ? แน่นอนไม่ใช่ เพราะโรคจิตเวชมักไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้ที่ป่วยและคนรอบข้าง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ดีหรือเลวไปกว่าคนธรรมดา แน่นอนว่า ขณะที่ยังควบคุมโรคไม่ได้ โรคอาจทำให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง อาจทำให้มีพฤติกรรมรุนแรง อาจทำอะไรแปลกๆ เกินเข้าใจหรือยอมรับได้ แต่โรคจิตเวชก็เช่นเดียวกับความยากลำเค็ญร้ายแรงต่างๆ ยังสามารถดึงและแสดงออกถึงส่วนที่สูงส่งดีงามของมนุษย์ออกมาได้เช่นกัน เราได้เห็นภาพเช่นนั้นในภาพยนตร์อย่าง A Beautiful Mind ซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้ป่วยจิตเภทคนหนึ่ง ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่เราอยากเห็นก็เพียงให้บันเทิงคดีนำเสนอสิ่งที่ตรงตามความจริง รอบด้าน และไม่เหมารวมตามความเข้าใจผิดๆ เดิมๆ เท่านั้นเอง เพราะคนไม่ได้ “เป็น” โรค เขาเพียงแต่ทนทุกข์จากโรค ประเด็นอยู่ที่ว่าการนำเสนอนั้นจะเลือกความซื่อตรงหรือเลือกความง่ายและเร็วโดยการใช้ภาพเหมารวม
แนวคิดและแนวทางอันพึงปรารถนา
เมื่อเรายอมรับว่าภาพยนตร์ ละครทีวี ละครเวทีและสื่อบันเทิงอื่นๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของสาธารณชนในเรื่องโรคจิตเวชและการฆ่าตัวตาย ที่สำคัญคือผู้ชมนั้นซึมซับข้อมูลและทัศนคติเหล่านั้นอย่างฝังลึกโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากการนำเสนอนั้นไม่ค่อยได้ผ่านกลไกการคิดอย่างมีเหตุผลแต่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกอันอ่อนไหวมากกว่า
ไมนด์เฟรมได้เห็นความสำคัญของบันเทิงคดีต่อผู้อยู่กับโรคจิตเวช จึงจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเมื่อเดือนมีนาคม 2007 ให้นักเขียนบทชาวออสเตรเลียได้ทำงานร่วมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคจิตเวชและคนที่ทำงานกับสุขภาพจิต ทำให้เกิดการตระหนักแน่ชัดว่า ต้องมีแหล่งข้อมูลเพื่อเสริมส่งให้การพัฒนาภาพของโรคจิตเวชนั้นตรงตามความจริงเชื่อถือได้ว่าไม่บิดเบือน แทนการให้ภาพที่สืบทอดความเข้าใจผิดๆ ตามแบบฉบับการคิดเหมารวม ซึ่งจริงอยู่บางครั้งความกดดันทางการผลิตอาจทำให้ต้องหันไปใช้ภาพเหมารวมที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้นซึ่งง่ายดายกว่า ทว่า การทำแบบนั้นไม่เพียงผิดความจริง ยังทำให้ไม่ได้นำเสนอเรื่องที่ลุ่มลึกกว่ามีสีสันมากกว่าอีกด้วย
ตราบาปนั้นแสนอันตรายต่อผู้อยู่กับโรคจิตเวชและสังคมโดยรวม การวาดภาพโรคจิตเวชในทางลบแบบเหมารวมทำให้ชีวิตของพวกเขายากลำบากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากหาความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทำให้พวกเขาทุกข์ยากยิ่งกว่าอาการของโรคเสียอีก การลดตราบาปเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น ซึ่งบันเทิงคดีอาจทำได้แนบเนียนและเข้าถึงคนจำนวนมากได้
ผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชได้เสนอแนะด้วยว่า จะวาดภาพโรคจิตเวชให้ดีขึ้นได้โดยวิธีต่อไปนี้คือ (1) ค้นคว้าวิจัยเรื่องความถูกต้องเที่ยงตรง (2) ชี้ทางให้ผู้ชมทราบว่าจะหา ความช่วยเหลือได้อย่างไร (3) วาดภาพตรงตามข้อเท็จจริงและนำเสนอแง่มุมต่างๆ แบบรอบด้าน และ (4) ใช้ภาษาที่เหมาะสม
คนไทยหนึ่งในหกมีประสบการณ์ตรงกับโรคจิตเวชในชั่วชีวิตของพวกเขาโดยมีสมาชิกครอบครัวอีกจำนวนมากทำหน้าที่ดูแลสนับสนุน ผู้ชมบันเทิงคดีของคุณจะรวมถึงคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคจิตเวช กับคนที่รู้เรื่องโรค จิตเวชจำกัดมาก
ในการผูกเรื่องราวซึ่งอาจมีเรื่องโรคจิตเวชแทรกอยู่ด้วย ก่อนเริ่มงาน คุณอาจอยากถามตนเองในประเด็นต่อไปนี้คือ...
ทำไมฉันจึงดึงโรคจิตเวชเข้ามาในเรื่อง?
-เพื่อสำรวจประเด็นนี้จากมุมมองส่วนบุคคลหรือนี่เป็นทางที่จะคลี่คลายเรื่องราวได้ง่ายๆ เท่านั้น?
-การนำเสนอตัวละครที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชส่งผลกระทบอย่างไรต่อแนวเรื่อง ความแตกต่างนี้อยู่ที่ว่าตัวละครที่ป่วยนั้นเป็นตัวละครหลักหรือตัวละครรับเชิญ
-ตัวละครที่วาดนั้นสมจริงน่าเชื่อเพียงใด? ฉันเข้าใจเนื้อหาเรื่องนี้เพียงพอที่จะนำเสนอได้อย่างสมจริงหรือไม่?
ภาพโรคจิตเวชที่นำเสนอจะสดและแปลกใหม่หรือไม่?
-เมื่อจะผูกเรื่อง ลองพิจารณาคุณค่าของการพูดคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคจิตเวช การศึกษาวิจัยโดยประสบการณ์ตรง จะทำให้ตัวละครและเรื่องราวมีความแปลกใหม่และถูกต้องตามความจริง (ติดต่อสมาคมสายใยครอบครัวเพื่อติดต่อกับผู้มีประสบการณ์ตรง)
-พิจารณาบริบทรอบด้านของผู้อยู่กับโรคจิตเวชในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ได้แก่ ความสัมพันธ์ต่างๆ การงาน เป้าหมาย และความใฝ่ฝันของพวกเขา
-สำรวจผลกระทบต่อผู้ดูแล ครอบครัว มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน และคนอื่นๆ ในชุมชน อาจส่งพลังอำนาจต่อการกำหนดเนื้อหาและแนวทางการนำเสนอมาก
-พิจารณาสำรวจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และช่วงวัย วัฒนธรรมต่างๆ เข้าใจ ยอมรับ และจัดการโรคจิตเวชในแนวทางต่างๆ กัน
เรื่องของฉันสืบต่อภาพแบบเหมารวมหรือไม่?
-คนที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชไม่จำเป็นต้องชั่วร้ายเสมอไป และตัวละครที่ชั่วร้ายก็ไม่จำเป็นต้องป่วยด้วยโรคจิตเวช
-คนที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชมีแนวโน้มจะเป็นเหยื่อความรุนแรงมากกว่าจะเป็นผู้กระทำความรุนแรงเอง
-เมื่อตัวละครตัวหนึ่งตัวใดแสดงท่าทีลบและเหมารวม จงพิจารณาใช้ตัวละครหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นท้าทายท่าทีของตัวละครดังกล่าว
-อารมณ์ขันไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในเรื่องราวเกี่ยวกับโรคจิตเวช คนอยู่กับโรคจิตเวชเน้นคุณค่าของการวาดภาพตัวละครในสถานการณ์ที่ผู้ชมสามารถ “หัวเราะกับ” ตัวละครนั้น ไม่ใช่ “หัวเราะเยาะ”
ฉันจะวาดภาพโรคจิตเวชตรงตามความจริงไหม?
-ขอให้ระลึกว่าผู้ป่วยสามารถจัดการโรคจิตเวชและดำเนินชีวิตกับมันได้ การป่วยไม่ได้เป็นเรื่องเจ็บปวดร้ายแรงอยู่ทุกวัน
-พิจารณาสำรวจการหายป่วยคืนสู่สุขภาวะหรือการจัดการโรคจิตเวชอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขได้โดยเร็วอาจไม่ใช่ความเป็นจริงก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อตัวละครที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชนั้นเป็นแขกรับเชิญไม่ค่อยมีเวลาพัฒนาบุคลิกตัวละคร
-การจบเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องให้ตัวละครที่ป่วยโรคจิตเวชหายป่วยหรือตายไป
-พิจารณาถ่วงดุลเนื้อหาที่เป็นลบด้วยเนื้อหาที่เป็นบวกกว่า
ตัวละครของฉันจะใช้ภาษาอย่างไร?
-ศัพท์อย่างเช่น “โรคจิต” “ไซโค” “บ้า” อาจสะท้อนภาษาเฉพาะกลุ่ม (อย่างเช่น คนหนุ่มสาว) แต่ถ้าไม่คัดค้าน คำเหล่านี้ก็อาจก่อความทุกข์ใจแก่ผู้ชมได้
-การใช้ตราทางจิตเวชอย่างไม่ถูกต้องอาจให้ข้อมูลผิดๆ และทำให้ผู้ชมสับสน ตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า จิตเภท บ่งบอกว่าเป็นคนสองบุคลิก หรือใช้คำว่า โรคจิต เพื่อพูดถึงความเบี่ยงเบนทางจิต
-ค้นเว็บของสายใยครอบครัว www.thaifamilylink. net เพื่อหาศัพท์ทางจิตเวช และข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดรักษาปัจจุบัน
ฉันจะปรับปรุงความถูกต้องและความจริงในการวาดภาพตัวละครของฉัน?
-ใช้เวลาค้นคว้ารายละเอียดของโรคจิตเวชแต่ละโรคที่จะวาดภาพเพื่อให้แน่ใจว่าการนำเสนอนั้นถูกต้องตรงความเป็นจริง
-ลักษณะบางอย่างที่เชื่อมโยงกับโรคจิตเวช (อย่างเช่น อาการกระตุก) เป็นผลข้างเคียงของการบำบัดรักษามากกว่าจะมาจากโรค
-พิจารณาขอบข่ายและประเภทของบริการและผู้ให้บริการที่นำเสนอเพื่อให้แน่ใจว่าสะท้อนแนวทางการบำบัดรักษาปัจจุบันอย่างถูกต้อง
-ตรวจสอบว่า การนำเสนอภาพสิ่งแวดล้อมสถานบริการการดูแลรักษาและบำบัดด้านสุขภาพจิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่?
เนื้อหาสามารถมีผลกระทบทางบวกแก่ผู้ชมได้หรือไม่?
-พิจารณาว่ามีโอกาสจะแสดงให้เห็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถหาความช่วยเหลือที่มีประสิทธิผลได้หรือไม่? คนที่กำลังประสบโรคจิตเวชจำนวนมากเข้าไม่ถึงการสนับสนุน สาเหตุเพราะตราบาปที่ติดมากับโรคจิตเวช
-ขอให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์และรายละเอียดสำหรับติดต่อสถานบริการต่างๆ ในตอนท้ายเรื่อง (หรือเป็นส่วนหนึ่งของละคร) เพื่อช่วยคนที่ได้รับการกระตุ้นให้หาความช่วยเหลือ
ความเข้าใจผิดๆ ของชุมชนเกี่ยวกับโรคจิตเวช
ความเข้าใจผิด: ผู้ป่วยจิตเวชเป็นคนดุร้ายรุนแรง
ความจริง:
-คนดุร้ายรุนแรงอาจไม่มีประวัติว่าป่วยด้วยโรคจิตเวชก็ได้
-คนที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชอาจไม่มีประวัติว่ามีพฤติกรรมรุนแรงก็ได้
-การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติดส่งให้เกิดความรุนแรงมากกว่าโรคจิตเวช
-ตามปกติ ผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มจะเป็นเหยื่อความรุนแรงมากกว่าโดยเฉพาะการทำร้ายตนเอง
-ตามปกติความรุนแรงเกิดขึ้นบริบทของประสาท หลอนอย่างน่าทุกข์ใจ หรือการบำบัดรักษายังไม่เกิดผล
ความเข้าใจผิด: โรคจิตเวชเป็นคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
ความจริง:
-คนส่วนใหญ่หายสนิท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มป่วย
-บางคนอาจมีอาการเพียงครั้งเดียวแล้วหายสนิท
-บางคนอาจสบายดีเป็นเวลานานมีอาการเป็นครั้งคราว
-และมีคนจำนวนน้อยกลายเป็นคนพิการไปยาวนาน
ความเข้าใจผิด: โรคจิตเวชเหมือนกันหมด
ความจริง:
-โรคจิตเวชมีหลายแบบและอาการมีหลายแบบ คนที่วินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคเดียวกันมีอาการต่างๆ กัน
-โรคจิตเวชอาจมีอาการทางกายเช่นเดียวกับลักษณะทางจิต อย่างเช่น นอนไม่หลับ น้ำหนักขึ้นหรือน้ำหนักลด
ความเข้าใจผิด: กลุ่มคนในบางวัฒนธรรมมีแนวโน้มจะป่วยด้วยโรคจิตเวชมากกว่าคนอื่น
ความจริง:
-คนจากภูมิหลังใดๆ สามารถป่วยด้วยโรคจิตเวชได้
-ภูมิหลังทางวัฒนธรรมส่งผลว่าคนนั้นๆ มีประสบการณ์อย่างไรกับโรคจิตเวช เข้าใจ และตีความอาการของโรคจิตเวชอย่างไร
-คนพื้นเมืองบางกลุ่มอาจแบกภาระจากความเศร้าเสียใจจากการสูญเสียคนที่รักตั้งแต่อายุน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรกลุ่มนี้มีอัตราการตาย การเจ็บป่วย การถูกจองจำ และการเสียชีวิตขณะถูกคุมขังสูง
-ประสบการณ์ก่อนย้ายถิ่นและกระบวนการตั้งถิ่นฐานในต่างแดนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและภาษาหลากหลาย และลูกๆ ของพวกเขา
การนำเสนอโรคจิตเวชอย่างถูกต้องสร้างสรรค์อาจช่วยชีวิตของปัจเจกบุคคลและสังคมได้มากอย่างที่คุณไม่คาดคิดทีเดียว!